EP.3 ปัญหาคานเครนแอ่นตัวเมื่อยกเต็มโหลดของ SWL (ค่าน้ำหนักยกที่ปลอดภัย) สาเหตุเพราะอะไร? | บริษัท โททัล เมคคานิค จำกัด
EP.3 ปัญหาคานเครนแอ่นตัวเมื่อยกเต็มโหลดของ SWL (ค่าน้ำหนักยกที่ปลอดภัย) สาเหตุเพราะอะไร?
20-05-2564
ปัญหาคานเครนแอ่นตัวเมื่อยกเต็มโหลดของ SWL (ค่าน้ำหนักยกที่ปลอดภัย) สาเหตุเพราะอะไร?

ปัญหาคานเครนแอ่นตัวเมื่อยกเต็มโหลดของ SWL (ค่าน้ำหนักยกที่ปลอดภัย) ต้องย้อนกลับไปดูตั้งแต่การคำนวณออกแบบเครนตัวนี้นะครับว่า ใช้ค่าความแอ่นตัวอ้างอิงมาตรฐานอะไร

การออกแบบเครนตามมาตรฐานค่าการแอ่นตัว (Deflection) ของคานเครนชนิด Overhead Crane และ Gantry Crane มีหลายมาตรฐานแล้วแต่ผู้ผลิตจะอ้างอิงนะครับ

เราจะใช้มาตรฐานอะไรดีที่สุดคงตอบไม่ได้ครับ แต่จะอธิบายเพิ่มเติมแต่ละมาตรฐานนะครับ

⭐ L/750 ทางยุโรปจะใช้ค่านี้ , L/888 ทางฝั่งอเมริกาจะใช้ค่านี้ ซึ่งวิศวกรไทยหลายท่านนำมาใช้คำนวณก็อาจจะพบว่า เครนแอ่นตัวลงมามากมีความแข็งเพียงพอน้อยต่อการรับแรงเมื่อยกเต็มโหลด
⭐ แต่..ยุโรปกับอเมริกา เค้าใช้ค่านี้ผ่านครับ สาเหตุเพราะเค้าจะคำนวณออกแบบเครนตามกรุ๊ปรอกที่เลือกโดยดูจากภาระและชั่วโมงการทำงาน ซึ่งมักจะเลือกพิกัดรอกที่สูงขึ้นเพื่อจะได้ชั่วโมงการทำงานที่เพิ่มขึ้น ยกตัวอย่าง ใช้งานยก 10 ตัน แบบ Medium เกิน 8 ชม.ต่อวัน ใช้รอก 10 ตัน กรุ๊ป 2M จะเกินภาระก็จะเพิ่มกรุ๊ปหรือเพิ่มพิกัดเป็น 15 ตัน ทำให้เครนถูกออกแบบให้รับได้ 15 ตัน ด้วยค่า L/750 หรือ L/888 เวลาเทสเต็มโหลด 15 ตันหรือ15ตัน+(10%หรือ25%) ก็จะแอ่นตัวลงมาไม่เกินค่าที่ยอมรับได้(แต่ก็เกือบเกินครับ) ซึ่งเวลาใช้งานจริงยกสูงสุด 10 ตันไม่เต็มโหลดจึงไม่เจอปัญหาคานดีดเด้ง ลองอ่านบทความนี้จะเข้าใจครับ https://bit.ly/2Y4Njbc

☑️ แต่..เมืองไทยจะไม่ได้ซื้อเครนตามกรุ๊ปรอกที่กำหนดไว้ว่าให้ดูภาระงานและชั่วโมงการทำงาน แต่ส่วนใหญ่ซื้อ 10 ตันก็ใช้เต็ม 10 ตันกับเกิน 10 ตัน แล้วปกติใช้งานได้ไม่เกิน 2 ชม.ต่อเนื่อง แต่เมืองไทยใช้ทำงานทั้งวันครับ ...ดังนั้นถ้าใช้ค่า L/750 ตามมาตรฐานยุโรป หรือ L/888 ตามมาตรฐานอเมริกา แต่ใช้เต็มโหลดทั้งวันก็อาจจะมีโอกาสคานแอ่นและดีดเด้งดูอันตรายครับ
⭐ รอกมีกรุ๊ปกำหนดขีดจำกัดในการรองรับภาระงานและชั่วโมงการทำงานตามมาตรฐานนะครับ แต่ในไทยไม่ค่อยรู้จะแข่งกันที่ราคา บางคนเห็นผู้ผลิตเผื่อมาอีก 25% ของพิกัดยก เช่น 10 ตัน จะเผื่อถึง 12.5 ตัน ก็คิดว่ายกเกินได้ อันนี้ผิดครับ

⭐ L/1000 ทางเอเชียจะใช้ค่านี้ตามมาตรฐานญี่ปุ่น ซึ่งวิศวกรไทยส่วนใหญ่ก็ใช้ค่านี้มาคำนวณคานเครน เพราะเครนแอ่นตัวลงมาน้อยกว่ามาตรฐานอื่นและมีความแข็งเพียงพอต่อการรับแรงเมื่อยกเต็มโหลด
⭐️ แต่..การใช้ L/1000 ทำให้เครนแข็งแรงขึ้นก็จะต้องเพิ่มขนาดเหล็กให้หนาขึ้นเป็นผลให้น้ำหนักของคานเครนเพิ่มขึ้นตาม ซึ่งจะไปสัมพันธ์กับส่วนอื่นๆ ให้ต้องเพิ่มขนาดให้สามารถรับภาระน้ำหนักและแรงกดที่มากขึ้นตาม เช่น คานล้อและล้อ มอเตอร์ขับเครน รางและทางวิ่งเครนล้วนต้องเพิ่มขนาดไปด้วยนะครับ 
☑️ แต่..เมืองไทยนิยมที่จะเน้นให้เครนแข็งแรงไว้ก่อนครับ ส่วนรอกไฟฟ้าก็จะซื้อตามที่พิกัดน้ำหนักที่จะใช้งานพอดี ไม่ได้เลือกตามกรุ๊ปหรือเผื่อการใช้งานที่ภาระหนักหรือชั่วโมงการทำงานมากขึ้น จึงทำให้รอกไฟฟ้ามีปัญหาระบบไฟฟ้าเสีย ระบบเบรกและมอเตอร์เสื่อมอายุหรือไหม้ก่อนเวลาอันควร นี่ยังไม่รวมการใช้งานรอกไฟฟ้าผิดประเภทนะครับ
☑️ รอกญี่ปุ่น รอกไต้หวัน ก็แบ่งเป็นรุ่นใช้งานเบา/ปานกลาง/หนัก แต่ส่วนใหญ่ก็เลือกรุ่นเบาเพราะราคาถูกแต่ไปใช้งานหนักกัน รอกจึงอายุการใช้งานสั้นต้องเปลี่ยนอะไหล่ ทำให้อะไหล่วางจำหน่ายเยอะ แต่ซ่อมไปซ่อมมาแพงนะครับ

☑️ สรุป การเลือกใช้มาตรฐานอ้างอิงในการออกแบบเครนเหนือศีรษะ
⭐ ถ้าจะใช้ค่า L/750 หรือ L/888 ก็ต้องเลือกกรุ๊ปรอกไฟฟ้าให้สัมพันธ์กับเครนที่จะใช้งาน เครนจะมีรูปทรงไม่ใหญ่ ประหยัดเหล็ก แต่รอกอาจจะกรุ๊ปสูงหน่อย อายุการใช้งานรอกจะยาวครับ
⭐ ถ้าจะใช้ค่า L/1000 เครนจะมีรูปทรงใหญ่ ใช้เหล็กหนาหน่อย คานล้อและล้อ มอเตอร์จะเพิ่มขนาดตามไปด้วย แต่รอกก็จะกรุ๊ปไม่สูง ทำให้ต้องหมั่นดูแลซ่อมแซมรอกไฟฟ้ากันหน่อยนะครับ :)

จิรายุ เอี่ยมสมร
บจก.โททัล เมคคานิค
บจก.ไทรทัน เมคคานิค
www.ttmcrane.com
www.cmak-thailand.com